Image from @dhanavadh

12 minutes Reading

ใบฟ้า – แอปช่วยจัดตารางเรียน

เรียนไปปีสามแล้ว เหลืออีกปีเดียวจะจบ แต่ยังเรียนไม่ครบเลย ทำไงดี?

หมายเหตุ

โปรเจคนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำนะครับ

เคยไหมครับที่เรียนไปสองปีแล้ว เหลืออีกสองปีก็จะเรียนจบ แต่ยังไม่รู้เลยว่าเราเรียนอะไรไปแล้วบ้าง เราเหลืออะไรที่ยังต้องเรียนอีก ยังลงได้อีกกี่หน่วยกิต วิชาบังคับเอกเรียนครบหรือยัง และคำถามอื่น ๆ ตามมากันหมด

หลายคนอาจจะแก้ปัญหานี้ด้วยการเปิดหลักสูตรของตัวเองดู แล้วจดลงว่าต้องเรียนอะไรบ้าง ลิสต์ไว้ในโน๊ตหรืออื่น ๆ แต่มันจะดีกว่าไหม หากเพียงเราแค่กรอกรหัสนิสิตของตัวเอง ก็สามารถเลือกดูได้เลยว่าเราลงทะเบียนอะไรไปแล้วบ้าง

สวัสดีครับ เทรุนะครับ พบกันอีกแล้ว ในครั้งนี้ ผมจะมานำเสนอโปรเจคแก้ปัญหาตามที่ผมได้พูดไปข้างต้นครับ โดยก่อนที่เราจะได้ไอเดียนี้ ผมกับปอม (เพื่อนไม่สะดวกเปิดเผยตัวตนครับ) อยากทำโปรเจค UX สักโปรเจค แล้วมานั่งคิดถึงปัญหาที่เราเจอในชีวิตประจำวัน และเราอยากแก้ไขหรือทำให้สะดวกขึ้น ปอมจึงเสนอไอเดียเรื่องแอปตัวช่วยการลงทะเบียนเรียนมาครับ

ก่อนอื่นเราจะพาไปรู้จักกับหลักสูตรของคณะเรากันก่อนนะครับ

ว่าด้วยเรื่องหลักสูตร

ต้องเกริ่นก่อนว่า พวกเราสองคนเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วในคณะเราจะแบ่งเป็นวิชาเอก โท มีทั้งเอกเดี่ยว เอกโท และยังต้องเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป หรือ Gened 4 หมวดหมู่ 12 หน่วยกิต และ GenLang คือเรียนเกี่ยวกับภาษา 12 หน่วยกิตครับ

แต่ละหลักสูตร แต่ละเอกก็มีวิชาบังคับเอก วิชาเลือกเอก วิชาบังคับโท วิชาเลือกโท แตกต่างกันออกไป ซึ่งฟังมาถึงตอนนี้ อาจจะดูว่าอะไรหลายอย่างมันวุ่นวายใช่ไหมครับ คำตอบคือใช่ครับ ลองดูภาพด้านล่างอาจจะพอช่วยให้เข้าใจมากขึ้นครับ

ตารางหลักสูตรอักษรศาสตร์บัณฑิต ปี 2561 (https://www.arts.chula.ac.th/th/ba-education/ba-2561/)

ที่พวกเราต้องเรียนก็จะประมาณนี้ครับ หลาย ๆ คนเข้ามาเรียนใหม่ ๆ ก็อาจจะแพลนไว้เลยว่าเทอมนี้จะเรียนอะไร ๆ แต่บางคนก็ไม่ได้แพลนไว้แต่แรกครับ ลงเรียนตามเพื่อนไปก่อนก็มี หรือบางคน (ผมเอง) มารู้ตัวว่าอยู่ปี 3 แล้วแต่ยังไม่ได้เรียนวิชา GenEd อีกหลายหมวด GenLang ก็ยังไม่ได้เรียนเลยครับ

ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้ผมต้องมานั่งจัดตารางหลักสูตรของตัวเองใหม่ กลายเป็นว่าต้องมาเรียนหนัก ๆ ในปีท้าย ๆ เพราะตัวเองไม่ได้แพลนการเรียนไว้

เจอปัญหาแล้ว เรามาหาวิธีแก้กันไหม?

พอเกิดปัญหาแบบนี้ ปอมก็เสนอไอเดียขึ้นมาว่า งั้นเราไม่ทำแอปที่ช่วยจัดการหลักสูตรให้นิสิตไปเลยล่ะ แบบ กรอกรหัสนิสิตเข้าไป ละก็เด้งขึ้นมาเลยว่าจะเลือกเอกอะไร สมมติถ้าเลือกเอกญี่ปุ่น ก็จะมีลิสต์โชว์ให้เลยว่าในปีนี้ ๆ ต้องเรียนอันนี้นะ และแนะนำว่าควรลง GenEd เทอมไหน แบบนี้จะเวิคไหม เพราะปัจจุบันก็ไม่ได้มีใครทำแอปจัดการหลักสูตรสำเร็จรูป มีแต่ช่วยจัดตารางเรียนแบบเป็นเทอม ๆ เช่น CU Get Reg

หน้าเว็บไซต์ CU Get Reg

ผมรู้สึกว่าไอเดียของปอมมันว้าวมาก เลยอยากนำมาทำเป็นโปรเจค UX ครับ ด้วยความที่ปอมเคยผ่านประสบการณ์การเรียนเกี่ยวกับวิชา UX ของในคณะแล้ว ผมรู้สึกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำ product อันนี้ออกมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับนิสิตอักษรครับ หากในอนาคตเราทำกับนิสิตอักษรก่อนแล้วเทส แล้วมันเวิค เราอาจจะนำอันนี้ต่อยอดไปในระดับมหาลัยได้ครับ

ทำไมต้องชื่อแอป ใบฟ้า?

จริง ๆ เราก็ไม่ได้ finalize ว่าจะเอาชื่อนี้ แต่เพราะ ใบฟ้า ทำให้เกิดเป็นไอเดียนี้ขึ้นมาครับ

ใบฟ้าคือ ใบสีฟ้าที่นิสิตอักษรต้องไปกรอกข้อมูลว่าเราเรียนอะไรไปแล้วบ้างในแต่ละเทอมเทอมกับที่ปรึกษาของเราครับ พอเรานึกไอเดียการกรอกแบบฟอร์มอันนี้มา เราก็ขอยืมชื่อมาใช้ก่อนแล้วกัน ประมาณนี้ครับ😂

มาเริ่ม ux design process กัน

คือผมกับปอมเรียนเรื่อง ux มากันคนละที่ ปอมเรียนที่คณะ ส่วนใหญ่ก็จะสอนเป็นภาษาไทย ส่วนผมเรียนออนไลน์ศัพท์ส่วนใหญ่จะเป็นอังกฤษ แต่ก็คุยกันรู้เรื่องอยู่ครับ 55

process ที่เรารู้ ๆ ในการทำงาน ux กันก็คือ เริ่มที่ empathize define ideate prototype test ประมาณนี้ใช่ไหมครับ เราก็ใช้ design thinking framework นี้มาปรับใช้กับงานของเรากันครับ อีกทั้งในแต่ละกระบวนการยังมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก

ภาพจาก Interaction Design Foundation : Design Thinking

อย่าลืมอีกหนึ่งข้อที่ว่า ตัว framework นี้ไม่ได้ทำเป็นสเตปแล้วจบ มันเป็นกระบวนการที่ทำวน ๆ บางทีเราอาจจะได้ข้อมูลมาแล้ว มา define ปัญหาได้แล้ว ได้ไอเดียแล้ว ในระหว่างกระบวนการนี้ ตอนที่เรากำลังคิดไอเดีย เราอาจจะลืมเก็บข้อมูลบางอย่างจาก user เราก็อาจจะจำเป็นต้องกลับไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติม หรือ เราทำ prototype แล้ว เอาไปให้ user เทส ไม่ว่าจะวิธีไหน แต่ตอนเทสเจอปัญหา เราก็อาจจะต้องวนกลับมานั่งดูปัญหานั้น และ ปรับ ๆ กันต่อไป ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า design thinking อันนี้มันทำซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ final product ออกมาได้ดีที่สุด

หลังจากเราพบปัญหาแล้วและเราก็รู้แล้วว่า user เราคือใคร ดังนั้น เริ่มทำความรู้จักกับ User ของเราเพิ่มเติมกันดีกว่าไหมครับ

UX Research เริ่ม!

ด้วยความที่ผมเพิ่งเรียนเรื่องเกี่ยวกับ ux จบ แล้วไปลงเรียนของ IxDF เพิ่ม ไฟมันมา อยากทำมาก เลยเริ่มเก็บข้อมูลเลยครับ

เรารู้ user ของเราแล้วว่าเป็นเด็กอักษรฯ ที่จะต้องมาใช้แอปของเรา เราก็ลงมือเก็บข้อมูลครับ ในการ research ก็ทำการสัมภาษณ์ครับ เราได้นิสิตอักษรหลากหลายชั้นปี มีเรียนคนละหลักสูตร แรก ๆ ก็สัมภาษณ์เพื่อนตัวเอง คนรู้จัก คนในคณะนี่แหละครับ การที่เราได้ข้อมูลที่หลากหลาย เก็บข้อมูลมาได้ประมาณ 11 คนครับในขั้นแรก แต่ละคนก็สัมภาษณ์เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15 นาที ครับ

เนื่องจากเราสัมภาษณ์แบบทางโทรศัพท์ ทำให้เราอาจจะไม่รู้ในเรื่องของความรู้สึก หรือ สีหน้าท่าทางระหว่างที่สัมภาษณ์ครับ

ในการสัมภาษณ์ก็ได้ถามเรื่องทั่วไปเช่นเป็นนิสิตอักษร ปีไหน หลักสูตรอะไร หลังจากนั้นถามเรื่องการวางแผนการเรียนครับ ถามเรื่องวิธีการวางแผน หรือมีเครื่องมือที่ใช้ไหม หลังจากนั้นก็ถามเจาะเรื่อย ๆ ครับ

แต่ที่ต้องระวังในการสัมภาษณ์เลยคือเรื่อง bias ครับ เวลาเราคิดคำถามอะไร บางทีเราเองก็อาจไม่รู้ตัวว่าคำถามที่เราถามไปนั้นมีไบแอสปนอยู่ไหม ดังนั้นผมจะวาง outline คำถามไว้ครับว่าจะถามประมาณไหน ๆ และให้เขาเล่ามาเท่าที่เขาอยากเล่า ปล่อยให้เขาเล่า เราก็เก็บข้อมูลครับ

การถามเรื่องชอบหรือไม่ชอบ หรือคำถาม yes/no บางทีก็อาจจะต้องระวังครับ การถามแบบนี้ไม่ใช่คำถามที่ถามแล้วจบ ควรถามถึงเหตุผลที่เขาให้มาและนำมาวิเคราะห์ครับ ตัวคำถามชอบหรือไม่ชอบนี่ ผมว่าเป็นคำถามที่น่าระวังเรื่องไบแอสครับ เราต้องคำนึงถึงบริบทในตอนนั้นที่ถาม user ด้วยว่าเขาคิดอะไรยังไง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดไปแอสไปโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวครับ

ผลลัพธ์ที่ได้จากการสัมภาษณ์

จากการสัมภาษณ์ เราได้รู้จัก user ของเรา ได้เห็นวิธีการที่เขาวางแผนการเรียน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมาก บางคนก็ไม่วางแผน วางแผนเป็นเทอมต่อเทอม บางคนก็บอกว่า วางเป็นระยะยาวเลย บางคนก็บอกว่าวางแผนตามความชอบของตัวเอง เลยวางแผนเป็นเทอม ๆ ไป เพราะคิดว่าความชอบของตัวเองจะเปลี่ยนไป

อีกทั้งยังพบว่าเครื่องมือที่แต่ละคนใช้วางแผนนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่กระดาษ ยันใช้แอปพลิเคชั่น CUGetReg (แอปวางแผนตารางเรียนแบบเป็นเทอมของนิสิตจุฬา) อีกทั้งยังได้เห็นปัจจัย และ สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทะเบียนเรียนในแต่ละเทอม ๆ ของ user แต่ละคนด้วยครับ

จริง ๆ ข้อมูลการสัมภาษณ์ตอนนี้เราเก็บมาได้ 11 คน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 15 คน แต่ก็รู้สึกว่าข้อมูลตอนนี้ค่อนข้างเพียงพอ เพราะการทำ research โดยการสัมภาษณ์มี cost ทั้งฝั่ง user และฝั่งเราด้วยครับ

ได้ข้อมูลแล้วทำไรต่อ?

หลังจากเราสรุปข้อมูลแล้ว ขั้นตอนถัดไปที่ทุกคนอาจจะนึกถึงกันเลยก็คือการสร้าง persona user stories หรือ user journey map ใช่ไหมครับ ซึ่งขั้นตอนการสร้าง persona ตอนนี้ปอมจะเป็นคนสร้าง persona และเราจะมาคุยกันในพาร์ทถัด ๆ ไปครับ

เพิ่มเติมจากฝั่งผม

ระหว่างที่รอปอมสร้าง persona ผมก็ลองสร้าง persona ขึ้นมา และลองทำ user journey และกำหนด problem statement หลังจากนั้นก็ลอง identify user’s task ดูโดยการเขียน storyboard ดูครับ ซึ่งอันนี้มันข้ามขั้นไปแล้ว ซึ่งผมก็ลองวาดเล่น ๆ ดูครับ ส่วนที่ใช้งานจริง ๆ ผมก็ต้องมานั่งดูนั่งพิจารณากับปอมอีกทีนึงครับ

ภาพ storyboard ที่ผมเขียนลองเล่น ๆ

ตัวอย่าง storyboard ทั้งแบบ big-picture และ close up ที่ผมลองวาดเล่น ๆ ดูครับ ในพาร์ทหน้า หากโปรเจคคืบหน้าแล้วผมจะมาเล่าให้ฟังต่อนะครับ

ทั้งนี้ต้องขอบคุณปอมด้วยที่มาร่วมงานกันครับ และหวังว่าจะได้มาเล่าให้ทุกคนฟังเร็ว ๆ นี้นะครับ 🤩

Crafted by

writer-img

Dhanavadh Saito

@dhanavadh
writer-img

Natnaree K.

ปอม

Reference